วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

การขยายพันธุ์สัตว์ บทที่1

การขยายพันธุ์สัตว์

  • ปัจจุบันนี้คนเรารู้จักใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขยายพันธุ์สัตว์ เพื่อให้สัตว์มีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีปริมาณเพียงพอกับประชากรที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีคุณภาพตามต้องการการขยายพันธุ์สัตว์เพื่อให้ได้ผลดีนั้นมีหลายวิธี เช่น การคัดเลือกพันธุ์ การผสมเทียม การถ่ายฝากตัวอ่อน การโคลน และพันธุวิศวกรรม เป็นต้น

1.การคัดเลือกพันธุ์สัตว์



  • การคัดเลือกพันธุ์  คือ การคัดเลือกสัตว์ชนิดเดียวกันที่มีลักษณะดีจำนวน 2 สายพันธุ์ มาผสมพันธุ์กัน ทำให้ลูกที่เกิดมามีลักษณะดีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความรู้เรื่องการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่การคัดเลือกพันธุ์ต้องใช้เวลานานกว่าปกติ กว่าจะได้สัตว์ที่มีลักษณะตามที่ต้องการ
ขอยกตัวอย่างการคัดเลือกพันธุ์ของวัวนะครับ  ดูวีดีโอเลยครับ
จุดประสงค์ของการคัดเลือกพันธุ์สัตว์
  • 1.เพื่อให้ได้สัตว์ที่ให้ผลผลิตดีตามที่ต้องการ เช่น ให้ปริมาณเนื้อแดงมาก ให้ปริมาณน้ำนมมาก มีไข่ตก มีไขมันน้อย เป็นต้น
  • 2.เพื่อนำสัตว์ไปใช้เป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์
  • 3.เพื่อให้ได้สัตว์ที่มีความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และโรคต่างๆ
  • 4.เพื่อให้ได้สัตว์พันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม

2.การผสมเทียม



  • การผสมเทียม  คือ การทำให้เกิดการปฏิสนธิในสัตว์โดยไม่ต้องมีการร่วมเพศตามธรรมชาติ โดยมนุษย์เป็นผู้ฉีดน้ำเชื้อของสัตว์ตัวผู้เข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์ตัวเมียที่กำลังเป็นสัด เพื่อให้อสุจิผสมกับไข่ทำให้เกิดการปฏิสนธิ ซึ่งเป็นผลให้ตัวเมียตั้งท้องขึ้น

การผสมเทียมสามารถทำได้ทั้งสัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายในและสัตว์ที่ปฏิสนธิภายนอก ครับ
1.การผสมเทียมสัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายภายในร่างกายนิยมทำกับสัตว์ เช่น สุกร โค กระบือ แพะ เป็นต้น มี 4 ขั้นตอนดังนี้ครับ
  • 1)การรีดน้ำเชื้อ  โดยการใช้เครื่องมือช่วยกระตุ้นให้ตัวผู้หลั่งน้ำเชื้อออกมา แล้วรีดเก็บน้ำเชื้อเอาไว้ ซึ่งต้องคำนึงถึงอายุ ความสมบูรณ์ของตัวผู้ รวมทั้งระยะเวลาที่เหมาะสมและวิธีการซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์นั้นเอง
  • 2)การตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ  น้ำเชื้อที่รีดมาจะมีการตรวจดูปริมาณของตัวอสุจิและการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจดูว่าตัวอสุจิมีความแข็งแรงและมีปริมาณมากพอที่จะนำไปใช้งานหรือไม่
  • 3)การเก็บรักษาน้ำเชื้อ  โดยจะเติมอาหารลงในน้ำเชื้อ เพื่อให้ตัวอสุจิได้ใช้เป็นอาหารตลอดการเก็บรักษา และนำน้ำเชื้อไปเก็บที่อุณหภูมิต่ำ ซึ่งมี 2 แบบคือ
-น้ำเชื้อสด  เก็บในอุณหภูมิ 15-20 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้นาน 4-5 วัน แต่ถ้าเราเก็บที่อุณหภูมิ 4-5 องศาเซลเซียส เก็บได้นานถึง 1 เดือน
-น้ำเชื้อแช่แข็ง  โดยแช่ไว้ในไนโตรเจนเหลว อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้นานหลายปี
  • 4)การฉีดน้ำเชื้อให้แม่พันธุ์  การนำน้ำเชื้อมาปรับสภาพปกติ แล้วฉีดเข้าไปในมดลูกของแม่พันธุ์ที่เตรียมไว้ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิและตั้งท้องต่อไป
2.การผสมเทียมสัตว์มี่มีการปฏิสนธิภายนอกนิยมทำกับสัตว์จำพวกปลา ได้แก่ ปลาบึก ปลาสวาย หอย และกุ้ง  มี 5 ขั้นตอน ดังนี้ครับ

  • 1)คัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาที่สมบูรณ์ มีน้ำเชื้อดีและมีไข่มากจากปลาที่กำลังอยู่ในวัยผสมพันธุ์ได้
  • 2)ฉีดฮอร์โมนให้แม่ปลา เพื่อเร่งให้แม่ปลามีไข่สุกเร็วขึ้น ฮอร์โมนที่ฉีดนี้ได้จาการนำต่อมใต้สมองของปลาพันธุ์เดียวกันซึ่งเป็นเพศใดก็ได้ นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมน้ำกลั่นฉีดเข้าที่บริเวณเส้นข้างลำตัวของแม่ปลา
  • 3)หลังจากฉีดฮอร์โมน ให้แม่ปลาแล้วประมาณ 5-12 ชั่วโมง แล้วแต่ชนิดและน้ำหนักของแม่ปลา ต่อจากนั้นจึงรีดไข่และน้ำเชื้อจากแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ที่เลือกไว้ใส่ภาชนะใบเดียวกัน
  • 4)ใช้ขนไก่คนไข่กับน้ำเชื้อเบา ๆเพื่อคลุกเคล้าให้ทั่ว แล้วใส่น้ำให้ท่วม ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 นาที จึงถ่ายทิ้งประมาณ 1-2 ครั้ง
  • 5)นำไข่ที่ผสมแล้วไปพักในที่ที่เตรียมไว้ซึ่งต้องเป็นที่ที่มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา เพื่อให้ไข่ลอยและป้องกันการทับถมของไข่ ทิ้งไว้จนกระทั่งไข่ปลาฟักออกเป็นลูกปลาในเวลาต่อมา

ข้อดีของการผสมเทียม

  • 1.ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงพ่อพันธุ์
  • 2.ประหยัดพ่อพันธุ์
  • 3.ควบคุมให้สัตว์มีลูกได้ตามต้องการ และกำหนดระยะเวลาคลอดลูกได้
  • 4.ป้องกันโรคติดต่อและโรคระบาดที่เกิดขึ้นในการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ
  • 5.แก้ปัญหาสัตว์ที่มีลูกยาก

3.การถ่ายฝากตัวอ่อน



  • การถ่ายฝากตัวอ่อนทำได้เฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่ออกลูกเพียงครั้งละ 1 ตัว โดยมีหลักการ คือ การนำตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ตัวให้เพื่อนำไปฝากไว้ที่มดลูกของแม่พันธุ์ตัวรับในระยะที่เป็นสัด หรือฉีดฮอร์โมนเหนี่ยวนำให้เป็นสัด แล้วให้แม่พันธุ์ตัวรับตั้งท้องและอุ้มท้องจนคลอดลูก 
การถ่ายฝากตัวอ่อนประกอบด้วย
  • 1.สัตว์เพศเมียที่เป็นตัวให้ (donor)
  • 2.ตัวรับ (recipients) ซึ่งมีได้หลายตัว

  • ตัวให้  จะเป็นแม่พันธุ์ที่คัดเลือกไว้ ซึ่งสัตว์บางประเภท เช่นโค กระบือ จะตกไข่ครั้งละ 1 ใบ แต่ถ้าต้องการให้ตกไข่มากขึ้น ก็ต้องใช้ฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่ให้สร้างไข่ได้มากกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้แม่พันธุ์มีไข่ตกมากกว่าครั้งละ 1 ใบ เมื่อแม่พันธุ์สามารถตกไข่ได้ครั้งละหลายใบ ก็จะมีโอกาสผสมเป็นตัวอ่อนได้หลายตัวในคราวเดียวกัน
  • ตัวรับ  เป็นสัตว์เพศเมียที่ไม่ได้รับการเลือกเป็นแม่พันธุ์ ตัวรับมีได้หลายตัว เพื่อรับตัวอ่อนจากแม่พันธุ์ให้มาเจริญเติบโตในมดลูกของตัวรับจนถึงกำหนดคลอด ตัวรับจะต้องมีสภาพร่างกายที่เป็นปกติ มีมดลูกที่พร้อมจะรับการฝังตัวของตัวอ่อน ดังนั้น ตัวรับมักจะเป็นพันธุ์พื้นเมืองเพราะจะแข็งแรงกว่า ในบางกรณีก่อนการถ่ายฝากตัวอ่อนอาจต้องมีการฉีดฮอร์โมนให้ตัวรับ เพื่อเตรียมสภาพของมดลูกให้พร้อมที่ตั้งท้องตามปกติ
ข้อดีของการถ่ายฝากตัวอ่อน
  • 1. ทำให้ได้ลูกจากพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์คู่เดียวจำนวนมากในการผสมพันธุ์กันเพียงครั้งเดียว
  • 2. ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการผลิตสัตว์ได้เป็นอย่างดี
  • 3. สามารถเก็บรักษาตัวอ่อนไว้ได้นานโดยการแช่แข็งซึ่งสามารถที่จะนำมาใช้ถ่ายฝากให้กับตัวเมียอื่น ๆ ได้ทุกเวลาตามที่ต้องการ
  • 4. ทำให้ได้สัตว์ที่มีลักษณะดีตามความต้องการในปริมาณมาก

4.การโคลนนิ่ง



  • การโคลนนิ่ง  คือ การสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่ โดยการนำเอาตัวกำหนดลักษณะทางพันธุกรรมในเซลล์จากสิ่งมีชีวิตต้นแบบ มากระตุ้นในให้เจริญพันธุ์ เพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ขึ้นมา ซึ่งสิ่งมีชีวิตใหม่นี้จะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนสิ่งมีชีวิตต้นแบบทุกประการ
การโคลนแกะดอลลี่
  • การโคลนแกะดอลลี่เป็นการค้นพบใหม่ ดอลลี่เกิดมาจาก สถาบันรอสลิน ผู้สร้างดอลลี่ โดยใช้เซลล์จากเต้านมของแกะหน้าขาวตัวหนึ่งซึ่งเจริญเต็มที่ ดูดเอานิวเคลียสของเซลล์ออกมา แล้วนำไปใส่ในไข่ที่ดูดมาจากรังไข่ของแกะหน้าดำซึ่งได้ดูดเอานิวเคลียสทิ้งไป เมื่อนำไปใส่แล้วก็นำเซลล์ที่ได้ไปใส่ในโพรงมดลูกของแกะหน้าดำตัวเดิม ให้เกิดการฝังตัวและตั้งครรภ์ได้ เมื่อครบกำหนดออกมาลูกของแกะหน้าดำที่คลอดออกมากลับกลายเป็นแกะหน้าขาว ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับแกะหน้าขาวเจ้าของเซลล์เต้านมทุกประการ

5.พันธุวิศวกรรม



  • พันธุวิศวกรรมหรือการตัดแต่งยีน คือ การใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อนำยีนจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปถ่ายฝากให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างไปจากพันธุ์ที่มีในธรรมชาติ ปัจจุบันการตัดแต่งยีนในพืชและสัตว์ได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้มีการพยายามนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
  • 1. การเพิ่มผลผลิตโปรตีนที่สำคัญและหายาก เช่น ฮอร์โมนอินซูลิน วัคซีนคุ้มกันโรคตับอักเสบชนิดบี วัคซีนคุ้มกันโรคปากเท้าเปื่อยต่าง ๆ เป็นต้น
  • 2. การปรับปรุงพันธุ์ของจุลิทรีย์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น การผลิตยาปฏิชีวนะ การหมัก การกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เป็นต้น
  • 3. การตรวจและแก้ไขความบกพร่องทางพันธุกรรมของมนุษย์ พืช และสัตว์ด้วยวิธีที่แม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย ปัญญาอ่อน และยีนเกิดมะเร็ง
  • 4. การปรับปรุงพันธุของสัตว์ เช่น การนำยีนจากปลาใหญ่มาใส่ในปลาเล็ก แล้วทำให้ปลาเล็กตัวโตเร็วขึ้น มีคุณค่าทางอาหารดีขึ้น เป็นต้น

  • แหล่งอ้างอิง
    ผศ.พิมพ์พร  อสัมภินพงศ์.คู่มือเตรียมสอบวิทยาศาสตร์ ป.5 .กรุงเทพ:เจ้าพระยาระบบการพิมพ์.2551
    เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ.สื่อการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ ป.5.อักษรเจริญทัศน์.กรุงเทพ:2551.
    ข้าถึงได้จาก http://www.surin1.js.ac.th/surin/animal/techno/2animal.html
    http://pornlove2540.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น